Translate

Sunday, October 19, 2014

ภาษาที่สาม ช่วยให้เก่งอังกฤษขึ้นนะ

ใครที่มีโอกาสได้เรียนภาษาที่สาม ที่เป็นภาษาที่ใช้ในประเทศแแถบยุโรป (เช่น เยอรมัน ฝรังเศส สเปน) จะเห็นว่า มีคำหลายๆคำใกล้เคียงกันอยู่ไม่น้อย ดังนั้น ถ้าเราเรียนภาษาที่สามแล้ว ก็อย่าลืมนำมาเชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษนะคะ เราจะได้เก่งขึ้นๆ ส่วนถ้าใครเคยเรียนภาษาฝรั่งเศสมาจะพบว่า ในภาษาอังกฤษมีการใช้คำศัพท์หรือวลีฝรั่งเศสอยู่ทั่วไป วันนี้นุชจะขอกล่าวถึงคำบางคำที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยๆค่ะ

bon appétit   (โบ-นา-เป-ตี)
คำนี้ถ้าเป็นภาษาไทย  ก็ประมาณว่า ทานอาหารให้อร่อยนะคะ ส่วนในภาษาอังกฤษก็จะแปลได้ว่า Enjoy your meal.

bon voyage   (บง-วัวยาร์ช)
ความหมายก็คือ ขอให้เดินทางราบลื่น [bon=good, voyage=trip]หรือภาษาอังกฤษก็คือ Have a good trip.


Credit: http://gideonrigal.co.uk 


brunette   (บรูเน็ทท์)
หมายถึงสีน้ำตาล (ใช้กับสีผม)

café au lait   (กาเฟ-โอ-เล)
กาแฟใส่นม [café=coffee, lait=milk]

c'est la vie   (เซ-ลา-วี)
ภาษาอังกฤษแปลว่า That's life. หรือ This is just the way life is. ความหมายก็คือ นี่แหละชีวิต (ประมาณว่า ปล่อยวางเถอะ)

château   (ชาโตว์)
บ้านหลังใหญ่หรือปราสาท

chauffeur   (โชเฟอร์)
โชเฟอร์ คนขับรถ (driver)

cliché   (คลิเช่)
แปลว่า คำพูดที่ซ้ำซากน่าเบื่อ หรือแปลว่าความคิดโบราณๆ (ประมาณว่าไม่ทันสมัยเอาซะเลย)

coup d'état   (คู-เดตาร์)
แปลว่ากลุ่มที่ควบคุมอำนาจทางการเมือง 

crème brûlée    (แครม-บรูเล่)
ขนมหวานชนืดหนึ่ง เป็นคัสตาร์ดที่มีหน้าไหม้ๆหน่อย


Credit: http://artisan-eliquid.com/


cuisine   (ควีซีน)
อาหาร หรือ การทำอาหาร

déjà vu   (เดจาวู)
ภาพหรือเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าเคยเห็นว่าก่อน (ทั้งๆที่จริงๆยังไม่เคยเจอเหตุการณ์นั้น)  [deja=already, vu=seen]

eau de toilette   (โอ-เดอ-ตัวแล็ทท์)
ชนิดของน้ำหอมชนิดหนึ่ง [eau=water, toilette=toilet]

encore   (อองคอร์) 
อีกครั้งหนึ่ง หรือ again

en suite   (ออง-สวีท)
แปลว่า รวมกันเป็นเซ็ต เช่น โรงแรมบางประเภทจะมีห้องน้ำแยกไปจากห้องนอน เป็นห้องน้ำที่ใช้รวมกับคนอื่น อย่างนี้จะเรียกว่า shared bathroom แต่ถ้ามีบริการห้องน้ำส่วนตัวในห้องนอนด้วย จะเขียนว่า bathroom en suite 

entrepreneur (อัน-เทอ-เพรอ-เนอร์)
หมายถึง ผู้ประกอบกิจการ

esprit de corps   (เอสปรี-เดอ-คอร์)
หมายถึง จิตวิญญาณแห่งความเป็นทีม (ทีมสปีริต) [esprit=spirit, corps=group]

fiancé, fiancée   (ฟิอองเซ่) 
คู่หมั้น fiancé ใช้กับคู่หมั้นผู้ชาย fiancée ใช้กับคู่หมั้นผู้หญิง

genre   (ชานร่ะ)
ประเภท มักใช้กับหนังหรือเพลง

hors d'œuvre   (ออร์เดิร์ฟ)
ออร์เดิร์ฟ หรือ appetizer อาหารทานเล่น

rendez-vous   (รานดะวู)
นัดเดตหรือนัดหมาย ใช้ได้ทั้ง V. และ N. ภาษาอังกฤษคือ appointment

résumé   (เรซูเม่)
ประว้ติย่อ หรือ CV (curriculum vitæ)

rouge   (รูจ) 
ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่าสีแดง แต่ในภาษาอังกฤษจะแปลว่า เครื่องสำอางค์ที่มีสีแดง เช่น บลัชออน

RSVP    
ย่อมาจาก Répondez, s'il vous plaît. แปลว่า รบกวนตอบกลับด้วย ตัวอย่างการใช้ เช่น ในการ์ดเชิญไปร่วมงาน อาจจะมีลงท้าย RSVP เพื่อให้ผู้ได้รับการ์ดตอบกลับว่าจะเข้าร่วมงานหรือไม่


Credit: http://www.budgetweddingstationery.com.au/wedding-rsvp-card/

souvenir   (ซูเวเนียร์)
ของที่ระลึก ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ความทรงจำ (ก็คล้ายๆภาษาไทยคำว่า ระลึก)

toilette  (ตัวเลทท์)
ห้องน้ำ toilet แต่ในภาษาฝรั่งเศสนอกจากจะแปลว่าห้องน้ำแล้ว ยังแปลว่า เกี่ยวกับห้องน้ำด้วย เช่น การแต่งหน้า ทำผม เป็นต้น [to do one's toilette]

Voilà !    (วาล่า)
แปลว่า "There it is!" อย่างเช่น อธิบายการทำไอศกรีมว่า 
After mixing all the ingredients in the bowl, put the bowl into the refrigerator. Wait for 3 hours. Then, take the bowl off. Voila! You get the ice-cream.

ส่วนใครที่เรียนภาษาอื่นๆ นอกจากภาษาอังกฤษกับภาษาในแถบยุโรป ก็สามารถนำการเชื่อมโยงภาษาไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยนะคะ เช่น ใครที่พอมีพื้นฐานภาษาจีนกับญี่ปุ่น จะพบว่า มีคำหลายคำที่เป็นคำเดียวกัน เทคนิคนี้ จะทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งสองภาษาไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

Credit:

Further reading:

Monday, July 14, 2014

เรียนคำศัพท์จากการอ่านเมนูในร้านอาหารหรือภัตตาคาร

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เข้าร้านอาหารหรือภัตตาคารที่มีเมนูภาษาอังกฤษมาบ้าง บางคนอาจจะไม่รู้จักคำศัพท์บางคำ แต่การสังเกตอาจจะทำให้เราจำคำศัพท์บางคำไปในตัวได้เลยนะคะ โพสต์นี้ขอกล่าวถึงคำศัพท์เกี่ยวกับอาหารบ้างที่นุชได้สังเกตและจำมาได้บางคำนะคะ

ก่อนที่เราจะพูดถึงประเภทของอาหารที่จะพบในเมนู ขอยกตัวอย่างคำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาหารบางคำซักเล็กน้อยพอเป็นน้ำจิ้มก่อนละกันนะคะ เริ่มที่คำว่า Food คำนี้แปลว่าอาหาร เป็นคำที่ใช้กันโดยทั่วไป ทั้งทางการและไม่ทางการ อีกคำนึงที่แปลว่าอาหารก็คือ Aliment แต่คำนี้จะเป็นทางการ (เช่น ใช้ในบทความเชิงวิชาการ) หรือภาษาเขียน มากกว่าที่จะใช้ในภาษาพูด ส่วนคำว่า Diet ก็แปลว่าอาหาร แต่โดยมากจะใช้ในการพูดหรือเขียนที่สื่อถึงอาหารที่ผู้บริโภคใส่ใจในการเลือก เช่น เราอาจจะพบคำว่า Diet ในบทความที่เกี่ยวกับอาหารชีวจิตหรืออาหารที่มีประโยชน์กับสุขภาพ นอกจากนี้ ถ้าเราพบคำว่า on a diet (เช่น I'm on a diet.) ก็หมายความว่า ลดน้ำหนัก หรือที่คนไทยนำมาย่อสั้นๆ ว่าไดเอต 



ถ้าเราเคยอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร เราอาจจะพบคำว่า Nutrition Facts หรือข้อมูลโภชนาการ ที่บอกถึงส่วนประกอบของอาหาร และสารอาหารที่เราจะได้รับ คำว่า Nutrition หมายถึงโภชนาการ หรือวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพ อ่านดูก็พอจะเดาได้ใช่มั๊ยคะ ว่าคำๆนี้ ใช้ในเชิงวิชาการ ส่วนถ้าใครชอบเดินดูแผงนิตยสารในร้านหนังสือ จะคุ้นๆกับคำว่า Cuisine ซึ่งแปลว่า การเตรียมอาหาร หรืออาหารเฉยๆก็ได้ค่ะ

ทีนี้ขอพูดถึงคำศัพท์ที่บ่งบอกประเภทอาหาร ที่เราจะพบได้ตามเมนูในร้านอาหาร(ที่ค่อนข้างราคาสูง)ซักหน่อยนะคะ คำแรกที่พบบ่อยๆเลยก็คือ Appetizer/Hors d'oeuvre/Starter คำทั้งสามคำนี้ก็คือ อาหารเรียกน้ำย่อย คำว่า Hors d'oeuvre (อ่านว่า ออเดิร์ฟ) และคำว่า Appetizer จะพบเห็นได้ทั่วไปในเมนู ส่วน Starter ก็พบในเมนูเช่นกัน แต่บางทีจะใช้ในภาษาพูดมากกว่า อีกคำที่อยากนำเสนอก็คือ Finger food คำนี้ไม่มีคำแปลในภาษาไทย แต่ถ้าจะแปลตรงๆก็คือ อาหารที่ใช้มือจับและรับประทานได้เลยโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์พวกช้อนส้อมช่วย อาหารพวกนี้ ก็อย่างเช่น คุ้กกี้ นักเก็ต ฮอตดอก เป็นต้น ซึ่งบางครั้ง Finger food ประเภทคาว ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทอาหารเรียกน้ำย่อยด้วยนะ



คำต่อมาก็คือ Entrée (อองเทร่) คำนี้จะหมายถึงอาหารอีกอย่างที่เสิร์ฟก่อนอาหารจานหลัก(มักจะเป็นอาหารที่หนักกว่า Appetizer) เช่น กราแตง (Gratin) แต่ถ้าเป็นร้านอาหารอเมริกัน คำว่า Entrée นี้จะหมายถึงอาหารจานหลัก ซึ่งคำว่่า Main course/ Main dish ก็มีความหมายเดียวกัน อาหารเหล่านี้ เช่น สเต็ก (Steak) สปาเกตตี (Spaghetti) บางครั้งอาหารจานหลักจะเสิร์ฟพร้อม Side dish (เครื่องเคียง) ไว้รับประทานแกล้ม เช่น มันฝรั่งอบ (Baked potato) หรือซุปต่างๆ (Soup) ส่วนสลัด (Salad) อาจจะถูกจัดให้อยู่ในประเภท Side dish หรือ Main dish ก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของสลัด

อาหารที่กล่าวมาข้างต้น มักเป็นอาหารที่มีรสชาติคาว (Savory - American หรือ Savoury - British คำนามจะแปลว่า ขนมที่มีรสชาติเผ็ด เค็ม หรือรสอื่นๆที่ไม่ใช่รสหวาน อาจเรียกว่าเป็นของคาว
หรือคำคุณศัพท์ (Adj.) จะแปลว่า มีรสชาติอื่นๆที่ไม่ใช่รสหวาน หรือแปลว่ามีรสชาติ/กลิ่นที่น่าหลงใหลก็ได้) ถ้ายังไม่อิ่มเกินไป เราก็อาจจะตบท้ายด้วยของหวาน (Dessert) ซึ่งของหวานนี้มีอยู่หลายอย่าง เช่น Ice-cream หรือ Cake หรือ ของหวานประเภทอื่นๆ บางครั้งเราจะเห็นคำว่า A la mode ซึ่งแปลว่า ขนมหวานอะไรก็ตามที่มีไอศกรีมโปะอยู่ เช่น Waffles à la Mode แต่คำว่า A la mode อาจจะพบได้ในอาหารคาวบางเมนู ซึ่งในที่นี้จะหมายถึง อาหาร(มักจะเป็นเนื้อ)ที่เคี่ยวกับผักและไวน์ เช่น Boeuf à la mode



บางครั้งเราจะเจออาหารที่จัดมาเป็นชุดให้เลย (รวมพวก Appetizer, Main course, Side dish, Desert มาให้) เรียกว่า Table d'hôte (อ่านว่า ทาเบิลโดท) หรือที่คุ้นกันหน่อยก็คือ Set menu ร้านอาหารบางที่ที่จัดชุดมาให้แล้วคิดราคาเบ็ดเสร็จเลย อาจจะใช้คำว่า Prix fixe (fixed price) ส่วนใครที่ไม่ชอบทานอาหารเป็นชุด เพราะเยอะเกินไป อยากจะสั่งเป็นจานเดี่ยว หรือ A la carte มาตามที่เราต้องการก็ได้

ถ้าเราอยากเพิ่มรสชาติอาหาร อาจจะขอเครื่องปรุงเพิ่ม ก็จะเรียกว่า Condiment ซึ่งคำนี้มักใช้กับเครื่องปรุงที่เป็นน้ำหรือของเหลว เช่น sauce, vinegar (น้ำส้มสายชู) แต่ถ้าของแห้ง เช่น pepper (พริกไทย) oregano (ออริกาโน) ก็จะเรียกว่า Seasoning นอกจากเครื่องปรุงแล้ว อาหารบางจานยังมีของประดับตกแต่งให้ดูสวยงาม เช่น ใบไม้ ดอกไม้ มะนาวฝาน เราจะเรียกของตกแต่งพวกนี้ว่า Garnish



คำศัพท์เกี่ยวกับอาหารยังไม่หมดแค่นี้นะคะ บางทีเราก็จำได้ไม่หมดหรอก แต่เราสามารถเดาความหมายได้จากรูปประกอบ หรือรายการอาหารอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เราอาจจะเจอคำว่า Soft drink ที่เราไม่รู้ความหมาย แต่พอเราดูรายการอาหารที่อยู่ในหมวดหมู่นี้ เช่น โค้ก แฟนต้า เราก็พอจะเดาได้ว่า คำๆนี้ หมายถึง น้ำอัดลมนั่นเอง รู้อย่างนี้แล้ว คราวหน้าถ้าได้ลองไปร้านอาหารที่มีเมนูภาษาอังกฤษ อย่าลืมสังเกตคำศัพท์ด้วยนะคะ เราอาจจะได้เรียนรู้คำอื่นๆเพิ่มเติมก็ได้นะ :)

References: 
http://en.wikipedia.org/
http://www.thefreedictionary.com

ขอบคุณภาพจาก: 
http://mogumogublog.files.wordpress.com/
http://www.reyesbarbecue.net
www.sandyalamode.com 
http://cdn.trendhunterstatic.com/

Sunday, April 20, 2014

แรงบันดาลใจ มาจากไหน (Where Does Inspiration Come From?)

ขณะที่กำลังรู้สึกว่าช่วงนี้ไม่มีไอเดียในการเขียนเลย เราก็นึกย้อนไปว่า ไอเดียมาจากแรงบันดาลใจ เอ๊ะ! แล้วแรงบันดาลใจมาจากไหนล่ะ ก็เลยพยายามคิดว่า จะเขียนอะไรดี นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก มิน่า ไม่แปลกเลยที่เขาว่ากันว่า นักเขียนไส้แห้ง เพราะบทจะนึกอะไรไม่ออก ก็ไม่รู้จะเขียนอะไรจริงๆ

นุชเลยถามตัวเองว่า แรงบันดาลใจมาจากไหน นั่นสิ แรงบันดาลใจมาจากไหนกัน




แล้วความที่ไม่มีแรงบันดาลใจ ก็ทำให้มีแรงบันดาลใจเกิดขึ้นมาซะงั้น เอ๊ะ! ยังไงกัน

คืออย่างนี้ค่ะ การที่นุชไม่มีแรงบันดาลใจ ทำให้นึกสงสัยว่า แล้วแรงบันดาลใจมาจากไหนกันนะ คิดไปคิดมา ก็เลยคิดขึ้นได้ว่า ทำไมเราไม่เขียนเกี่ยวกับคำว่า "แรงบันดาลใจ" ว่ามาจากไหนไปเลยล่ะ ว่าแล้วก็มาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าค่ะ

คำว่าแรงบันดาลใจ (inspiration) หรือในรูปกริยาก็คือ inspire มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน คือคำว่า in (จากข้างใน) กับคำว่า spirare (breathe, live หรือจะนึกถึงคำว่า spirit ก็ได้)

คำว่า in- เป็นคำที่เติมข้างหน้าคำรากศัพท์ (root word) ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็น prefix โดยปกติ in- จะใช้เติมหน้าคำเพื่อสื่อความหมายว่า in หรือมาจากข้างใน/เกี่ยวกับภายใน เช่น inland (เข้าในประเทศ/ในดินแดน) หรืออาจจะทำให้คำมีความหมายปฏิเสธ (not) เช่น inconvenient (ไม่สะดวก)

ส่วนคำว่า spirare เป็นคำรากศัพท์ ซึ่งแปลว่า breathe (หายใจ) หรือ live (มีชีวิตอยู่) โดยคำว่า spirit หรือจิตวิญญาณในภาษาอังกฤษ ก็รับมาจากคำนี้ 
[จิตวิญญาณ ก็คือ การมีอยู่ (live) และการที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ก็จะต้องมีการหายใจ (breathe) นั่นเอง]

ดังนั้น ถ้านำ in + spirare มารวมกันแล้ว ก็จะแปลความหมายได้ว่า จิตวิญญาณที่มาจากภายใน แรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่เกิดจากภายในจิตใจเรา และเป็นสิ่งที่จะมาเมื่อไหร่ก็ไม่อาจรู้ได้

รากศัพท์ spirare นี้ ยังแตกแขนงมาเป็นคำศัพท์อื่นๆอีก เช่น respire,  conspire,  perspire,  aspire etc.




ขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยละกันนะคะ คำว่า respire แปลว่า หายใจ เป็นคำเก๋ๆ ที่มีความหมายเดียวกับ breathe มาจากคำว่า re- (อีกครั้ง) กับ spirare (หายใจ) ก็แปลตรงตัวเลยว่าเป็นการ หายใจอีกครั้ง ซึ่งก็คือ หายใจนั่นแหละค่ะ คนที่เรียนวิชาชีววิทยา หรือวิชาทางสายแพทย์ คงคุ้นเคยกับคำว่า respiratory system หรือระบบหายใจใช่มั๊ยคะ

อีกคำหนึ่งก็คือ conspire แปลว่า ร่วมกันวางแผน/สมคบคิด คำนี้มาจาก con (ร่วมกันหรือรวมกัน) + spirare (มีชีวิตอยู่/มีจิตวิญญาณ) เมื่อรวมกันแล้ว ก็จะได้ความหมายว่า มีจิตวิญญาณร่วมกัน ซึ่งก็เป็นความหมายของการวางแผนร่วมกันนั่นเอง การจะสมคบคิดกันทำอะไรซักอย่าง ก็แสดงว่าเราจะต้องมีอุดมการณ์หรือจิตวิญญาณที่เหมือนกัน หรือจะต้องนำเอาจิตวิญญาณของทุกคนมารวมกันเพื่อกระทำการนั่นเอง

และนี่ก็คือที่มาของคำว่า "แรงบันดาลใจ" และคำอื่นๆที่มีรากศัพท์เดียวกันค่ะ ส่วนแรงบันดาลใจจริงๆ หากว่าเราอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเรานั้น จากประสบการณ์ส่วนตัว พบว่า การอ่านหนังสือ การสงสัย ตั้งข้อสังเกต หมั่นตั้งคำถาม และจดบันทึก ก็ทำให้แรงบันดาลใจเกิดขึ้นได้ค่ะ :)

การเรียนภาษาก็เช่นกัน การหมั่นสังเกต จดจำคำศัพท์ ประโยค และหมั่นหาข้อมูล ก็ทำให้เราได้คำศัพท์เพิ่มขึ้นมานะคะ ดูอย่างกรณีนี้สิ จากคำๆเดียว คำว่า แรงบันดาลใจ ทำให้เราได้รู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายคำเลยเชียวนะ ^_^



References:
http://www.etymonline.com/
http://www.babylon.com/
http://www.latin-dictionary.net/

ขอบคุณภาพจาก
http://www.tnooz.com/article/is-turning-dreams-into-reality-the-way-to-solve-trip-inspiration/
http://www.ccpa-accp.ca/blog/?p=2911
http://bloodclotrecovery.net/get-inspired-7-steps/